แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท
 แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท เป็นแหล่งโบราณคดี ที่มีความเก่าแก่มากถึง3,000ปีก่อนประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวที่ให้นักท่องเที่ยวศึกษา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยท้องถิ่นแบบโฮมสเตย์ แหล่งโบราณคดี “บ้านปราสาท” แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นระยะทางการเดินทาง จากกรุงเทพฯถึงที่นี่ ประมาณ 304 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ

 

 

 

 


     

 
สภาพทั่วไปของแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท
 

 


ดูจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่โดยทั่วไปนั้นโดยรอบยังมีความสมบูรณ์ มีสีเขียวของสวนผักและต้นตาล เพราะที่นี่มีน้ำจากแม่น้ำมูลที่ยังไม่แห้งเหือดหล่อเลี้ยง และมีสระน้ำที่ชาวบ้านของหมู่บ้านแห่งนี้ขุดขึ้นอีกหลาย แห่งให้เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้านยามขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านที่หมู่บ้านปราสาท เล่าถึงที่มาของหมู่บ้านว่า ชื่อของ “บ้านปราสาท” นี้เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้น ตามความเชื่อเรื่องปราสาทหินซึ่งตั้งอยู่ในลำธารปราสาท ธารน้ำขนาดใหญ่ที่เมื่อน้ำลดลง ในฤดูแล้งชาวบ้านจะสามารถเดินท่องน้ำชมปราสาทได้ โดยบริเวณท้องน้ำจะกลายเป็นพื้นแข็งเหมือนปูลาดด้วยหินซากปราสาท จากข้อมูลที่ได้ไปสืบค้นเพิ่มเติม พบว่า ในตำนานเก่าแก่นั้น...ปราสาทหินแห่งนี้เป็นหนึ่ง ในสามของปราสาทหินในจังหวัดนครราชสีมา ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 3,000 ปีก่อน อันได้แก่ ปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินพนมวัน ในเขตอำเภอเมือง โดยผู้ที่ก่อสร้างปราสาทหินได้ตกลงกันว่า หากปราสาทหินที่ใดสร้างเสร็จก่อนให้ปล่อย โคมไฟเป็นสัญญาณ แต่ชาวพิมายซึ่งกำลังก่อสร้าง ปราสาทหินกลับปล่อยโคมไฟก่อนทั้งที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ทำให้ชาวบ้านปราสาทโกรธแค้น ยกปราสาทหินทิ้งลงน้ำจึงเป็นที่มาของลำธารปราสาท และตำบลบ้านปราสาทในปัจจุบันนั่นเอง ที่นี่มีการขุดค้นพบหลุมโบราณคดี 3 หลุม ซึ่งทำให้รู้ว่าคนในอดีตมีการใช้ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ ที่เคลือบด้วยน้ำดินสีแดง และยังมีภาชนะดินเผาสีดำขัดมัน ภาชนะลายเขียนสี เครื่องประดับสำริดทั้งกำไล แหวน และตุ้มหู ขวานหินขัด ขวานสำริด เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการปั่นด้ายแบบโบราณ และเครื่องมือเหล็กแบบโบราณฯลฯ แต่ในปัจจุบัน ชาวบ้านที่นี่เขามีอาชีพทำนาเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ทอเสื่อจากต้นกก หรือต้นไหล สานหมวกจากใบตาล และทำเก้าอี้จากก้านตาล