พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2507 โดยเริ่มจากการเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่ได้จากการขุดแต่งบูรณะปราสาทพิมาย การขุดแต่งบูรณะโบราณสถานและการขุดค้นทางโบราณคดีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ ในปี พ.ศ. 2532 กรมศิลปากรได้พัฒนาปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑสถานวิทยา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว ก่อสร้างอาคาร 3 หลังเชื่อมติดต่อกัน ระหว่าง พ.ศ. 2532 - 2536 จัดแสดงนิทรรศการถาวรและปรับปรุงภูมิทัศน์แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2536 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงถูกต้องตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากลแห่ง หนึ่งในประเทศไทย

 

การจัดการแสดง  
แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน
 ส่วนที่ 1 อาคารจัดแสดงชั้นบน จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของสังคมในดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง แสดงถึงรากฐานการกำเนิดอารยธรรมซึ่งมีที่มาจากความเชื่อต่างๆ ตลอดจนอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็นห้องต่างๆ ดังนี้ 
1. รากฐานวัฒนธรรม 
2. ชุมชนแรกเริ่ม 
3. อิทธิพลวัฒนธรรมเขมร 
4. สุดท้ายแห่งสายวัฒนธรรมเขมร 
5. อีสานดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
 ส่วนที่ 2 อาคารจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุร่วมสมัยศิลปะเขมร โบราณคดีและประวัติศาสตร์พิมาย กล่าวถึงกำเนิดเมือง การสร้างพุทธสถานประจำเมือง หลักฐานร่องรอยความเจริญด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ โดยศึกษาจากหลักฐานต่างๆ ที่พบในพิมายและจังหวัดใกล้เคียง โบราณวัตถุที่สำคัญ อาทิ ประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เครื่องถ้วยลพบุรีร่วมสมัยศิลปะเขมรและเครื่องทองประดับเทวรูปจากปราสาทบ้านถนนหัก อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา แบ่งเป็นห้องต่างๆ ดังนี้ 
1. พิมาย 
2. ทับหลัง 
3. สังคมวัฒนธรรมในอดีต 
4. การอนุรักษ์วัฒนธรรมอีสาน
 ส่วนที่ 3 อาคารจัดแสดงกลางแจ้ง จัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทราย อาทิ ทับหลัง หน้าบัน เสาประดับกรอบประตู กลีบขนุน บัวยอดปราสาท และปราสาทจำลอง ที่พบจากโบราณสถานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นอกจากนี้บริเวณรอบอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ยังได้จัดแสดงใบเสมาและทับหลังที่สวยงามอีกด้วย
โบราณวัตถุที่สำคัญ
    ประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรมันที่7     แท่งหินสี่เหลี่ยม
    พระอิศวร     พระพุทธรูปปางสมาธิ
    กระบังหน้า     พระพุทธรูปนาคปรก
    ไหรูปช้างสามเศียร     ทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
    ซุ้มหน้าบัน  

 

 

  ชื่อวัตถุ ประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรมันที่7
  ขนาด ตักกว้าง81.5ซม.สูง143ซม.
  อายุสมัย ศิลปะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ. 1720-1780
  วัสดุที่ทำ หินทราย
  ประวัติ พบที่ปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
   

 

 

 

 

 

  ชื่อวัตถุ พระอิศวร
  ขนาด สูง 186.5 ซม. ฐานกว้าง 34.5 ซม.
  อายุสมัย ศิลปะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบาบวนอายุประมาณ   พ.ศ.1560-1630
  วัสดุที่ทำ สำริด
  ประวัติ พบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
   
 


  ชื่อวัตถุ กระบังหน้า
  ขนาด กว้าง 4.5 ซม. ยาว 13 ซม.
  อายุสมัย ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 16-18
  วัสดุที่ทำ ทองคำ
  ประวัติ พบที่ปราสาทบ้านถนนหัก อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา
   
 

 

  ชื่อวัตถุ ไหรูปช้างสามเศียร
  ขนาด ปากกว้าง 12.7 ซม. สูง 30.6 ซม.
  อายุสมัย ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 15-18
  วัสดุที่ทำ ดินเผาเคลือบ
  ประวัติ สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านบัว อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ยึดจากผู้เก็บหรือขุดพบ นำส่ง พช. พิมาย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2535 
   
 

 

  ชื่อวัตถุ ซุ้มหน้าบัน
  ขนาด กว้าง 302 ซม. สูง 262 ซม. หนา 30 ซม.
  อายุสมัย ศิลปะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบคลัง-บาปวน
  วัสดุที่ทำ หินทราย
  ประวัติ พบที่ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
   
 

 

  ชื่อวัตถุ แท่งหินสี่เหลี่ยม
  ขนาด ยาว 57 ซม. สูง 51 ซม. หนา 18 ซม.
  อายุสมัย ศิลปะร่วมสมัยศิลปะเขมร พุทธศตวรรษที่16-18
  วัสดุที่ทำ หินทราย
  ประวัติ พบที่ปราสาทพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
   
 

 

 

  ชื่อวัตถุ พระพุทธรูปปางสมาธิ
  ขนาด ตักกว้าง 11.3 ซม. สูง 17 ซม.
  อายุสมัย ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13-14
  วัสดุที่ทำ สำริด
  ประวัติ นายประจน ดอนกัญหา บ้านเลขที่ 158
หมู่ที่ 3 ตำบลหูทำนบ อำเภอประคำ จังหวัดบุรีรัมย์ มอบให้เมื่อ 22 พฤษภาคม 2530
   
 

 

 

 

  ชื่อวัตถุ พระพุทธรูปนาคปรก
  ขนาด ตักกว้าง 11 ซม. สูง 23 ซม.
  อายุสมัย ศิลปะลพบุรี
  วัสดุที่ทำ หินทราย
  ประวัติ พบที่ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา